Street Fashion - คำนี้มาจากไหน สตรีทแฟชั่น คืออะไร

LONDON  เมืองหลวงเก่าแก่สวยงามอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสาวๆ street fashionista ทุกคนต่างก็ใฝ่ฝันอยากไปเยี่ยมเยือนสักครั้งในชีวิต  ลอนดอนเป็นเมืองที่ก่อกำเนิด แนวแฟชั่นที่โดดเด่นกว่าที่อื่นๆใดในโลก  และยังเป็นต้นกำเนิดบัญญัติศัพท์  Street Fashion  อีกด้วย เพราะที่นี่ไม่มีห้องเสื้อชั้นสูง หรือที่เรียก Haute Coutureเพราะเนื่องจากโครงสร้างของประชากรในประเทศอังกฤษนั้น สามารถแบ่งชั้นของประชากรได้ด้วยระบบภาษี จึงทำให้คนชนชั้นกลางเป็นประชากรหลักของประเทศ  และมีคนชั้นล่าง (หรือคนรายได้น้อยกว่าเกณฑ์) บ้างเล็กน้อย ส่วนชนชั้นสูงนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะมีน้อยมาก.... ผู้คนส่วนใหญ่เลยค่อนข้างมีวิถีชีวิตในระดับที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก  เมื่อคนชั้นสูงมีน้อย ก็ทำให้วิถีชีวิตแฟชั่นแบบคนชั้น Aristocrat (ขุนนาง) ไม่ได้เป็นแบบแผนให้คนทั่วประเทศปฎิบัติตาม เฉกเช่นแบบชาวฝรั่งเศส คนชนชั้นกลางจำนวนมากจึงได้มีบทบาทในการแสดงออกทางแฟชั่น และเหมือนเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของชาวอังกฤษในเรื่องรสนิยมด้านแฟชั่น ประกอบกับนโยบายผลิตประชากร ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดปรากฎการณ์ baby boom เกิดหนุ่มสาววัยรุ่นยุค 60's มากมายที่ไม่มีกำลังซื้อแฟชั่นหรูหรา ซึ่งช่วงนั้นจะได้รับอิทธิพลจาก Haute Couture ของฝรั่งเศส ทำให้แฟชั่นยุคนั้นจะดูไฮโซ  เป็นงาน Exclusive ยาวบานรุ่มร่าม จับเดรปตีเกล็ดแยกย้วย เอวคอด อกตั้งชัน... ด้วยสเตย์รัดหน้าท้องจนกิ่วคอด (ซึ่งส่วนตัวแล้ว ถือเป็นโชคดีอย่างมาก ที่ผู้เขียนไม่ได้เกิดยุคนั้น)ทำให้วัยรุ่นยุคเบบี้บูมก่อปฏิกิริยาปฏิเสธแฟชั่นชั้นสูงเหล่านั้น เพราะใส่แล้วก็ทำให้ดูสูงวัยขึ้นทันตาเห็น แล้วก็คิดว่าทำไม๊ ทำไม...ถึงไม่มีชุดเก๋ๆ ให้วัยรุ่นใส่บ้าง  ผลคือทำให้ทุกคนมีปฏิกิริยาออกมา ในแนวเดียวกันหมด คือปฏิเสธความหรูหรา ปฏิเสธเรือนร่างแบบเอวคอด อกชันสะโพกผาย มาสู่เรือนร่างแบบใหม่ อกแฟบ ไม่เน้นเอว เน้นสะโพก ตัวผอม เป็นเรือนร่างแบบเด็กๆ ที่ยังไม่ค่อยจะมีทรวดทรง ซึ่ง icon คนสำคัญในยุคนั้นก็        แฟชั่นยุค 60's นั้นจึงเป็นรูปทรงเสื้อผ้าที่ดูเด็ก สั้นกุด ชุด sack  ทรง A และมีดีเทลเก๋ๆ เรียบๆ ไม่ฉวัดเฉวียน หรือรุ่มร่าม แต่สีสันสดจัดจี๊ดจ๊าด ตรงข้ามกับคำว่า Good Taste โดยสิ้นเชิง ซึ่งสมัยนี้ก็มีพวกไฮโซ ที่คลั่งไคล้ hi-brand กัดแขวะแนวสตรีทเหมือนกันว่า ไม่มี taste หรือไร้ซึ่งรสนิยม กระโหลกกระลาอะไรทำนองนี้.... เมื่อกระแสแฟชั่นชนชั้นกลางได้ก่อตัวและลุกลามไปทั่วเกาะอังกฤษ หนำซ้ำไม่พอยังได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังฝั่งยุโรป และลุกลามไปจนถึงอเมริกา  ยิ่งทำให้บทบาทแฟชั่นของชนชั้นกลางยิ่งชัดเจน และมีพลังมาก และสามารถพูดได้เลยว่า จวบจนบัดนี้ยังไม่มีแบรนด์ใด หรือดีไซเนอร์คนไหน ห้องเสื้อชั้นสูงไหนๆ   สามารถจูงจมูก คนอังกฤษให้แต่งตัวแนวอื่นได้ ทั้งนี้เป็นเพราะคนอังกฤษจะมีทัศนคติที่ค่อนข้างปฏิเสธสังคม มีความรุนแรงและชัดเจนทางความคิดการแสดงออก มีใจรักเสรีภาพแบบสุดขั้ว ที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักตัวตนของตนเองอย่างชัดเจน นั่นยิ่งทำให้ยิ่งเกิดการรวมกลุ่มแก๊งค์ เป็นชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในสังคม (sub-culture) ที่มีวิถีปฎิบัติตามครรลองของตนเองมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแนว Punk, Rocker, Hippies, Hip Hop, Grunge, Gothic ฯลฯเสรีภาพในการแสดงออกที่อยู่ในสายเลือด ทำให้ถนนทุกสายในเกาะอังกฤษ ได้ให้กำเนิดความหลากหลายของแฟชั่น ผู้คนสนุกกับการแต่งตัวกันอย่างแตกต่าง โดยที่สไตล์ของแต่ละคนมีความแตกต่าง บนพื้นฐานของ Self Identity ซึ่งไม่ได้แตกต่างตามสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ เหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้แตกต่างตามอาชีพ ฐานะ วัย เชื้อชาติ ผิวพรรณ แต่เป็นทัศนคติในการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กลับเป็นกราฟที่ตรงกันข้ามกับคนไทย (เกือบสิ้นเชิง) อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) จะนิยมการแต่งตัวอิงกระแสแฟชั่น ตามเทรนด์ ตามดาราที่ชื่นชอบกันอย่างโจ่งแจ้ง (แบบไม่แคร์ที่จะเจอฝาแฝด)ที่เล่ามาทั้งหมดเพียงเพื่อจะบอกว่า แฟชั่นที่เกาะอังกฤษเกิดขึ้นทุกวี่วัน ไม่ว่าจะบนท้องถนน หรือในผับ ย่าน Soho ย่าน Piccadilly หรือจะที่ลานหน้ามิวเซียม บนรถไฟใต้ดิน ในมหาวิทยาลัย ทุกตรอก ทุกหนทุกแห่ง มี Street Fashion ที่ก่อกำเนิดแฟชั่นใหม่ๆ...ทุกวัน...ทุกนาที ไม่ใช่เป็นฤดูกาล สปริง-ซัมเมอร์ ออทั่ม-วินเทอร์ เฉกเช่นที่ประเทศอื่นๆ เป็นกัน  
สุขภาพความงามและของใช้สำหรับผู้หญิง
04/17